วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555

รกเกาะต่ำ (placenta previa)



รก 
      คืออวัยวะพิเศษ ที่สร้างขึ้นมาในช่วงตั้งครรภ์ ทำหน้าที่ส่งอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงทารกและกำจัดของเสีย โดยด้านหนึ่งของรก ต่อกับเส้นเลือดที่สายสะดือของเด็ก อีกด้านของรก จะเกาะกับผนังมดลูก เลือดลูกกับแม่จะไม่ผสมกัน แต่จะมีการแลกเปลี่ยนสารระหว่างกัน
ในภาวะปกติ รกจะเกาะสูงขึ้นไปในมดลูก (ในระยะแรก ๆ จะเกาะต่ำ ๆ ได้ถึง20% แต่เมื่อการตั้งครรภ์พัฒนาไป จะเลื่อนขึ้นด้านบนไปเรื่อย ๆ)



ภาวะรกเกาะต่ำ 

         หมายถึง  ภาวะที่รกเกาะต่ำลงจากปกติที่อยู่สูงขึ้นไปในมดลูก บางครั้ง เกาะต่ำลงมาถึงปากช่องคลอด และทำให้เกิดปัญหา คือ เลือดออกในช่วงที่ปากช่องคลอดขยายตัว คือช่วงครึ่งหลัง (3-8 เดือน)ของการตั้งครรภ์ และถ้าเป็นมาก อาจทำให้ตกเลือด เด็กไม่สามารถคลอดตามปกติ ต้องผ่าตัดคลอดเนื่องจากมีรกขวางอยู่

ชนิดของรกเกาะต่ำ แบ่งออกเป็น 3 แบบใหญ่ ๆ ตามความรุนแรงคือ
  1. รกเกาะคลุมปากมดลูกทั้งหมด ซึ่งจัดว่ารุนแรงที่สุด เพราะรกจะปิดปากมดลูกทั้งหมด
  2. รกเกาะคลุมปากมดลูกเป็นบางส่วน 
  3. รกเกาะบริเวณด้านล่างของมดลูกแต่ไม่คลุมปากมดลูก กรณีนี้สามารถปล่อยให้ลูกคลอดทางช่องคลอดได้ แต่ต้องระวังว่ามีโอกาสที่เลือดจะออกมากได้เช่นกัน แม้ว่าจะน้อยกว่า 2 กรณีแรกก็ตา

อาการ

         เลือดออกทางช่องคลอด ในอายุครรภ์มากกว่า 6 เดือน มักไม่ปวดท้อง และเป็นเลือดสดๆ ส่วนใหญ่เลือดที่ออกครั้งแรก จะออกไม่มากและสามารถหยุดได้เองถ้าไม่ได้รับสิ่งกระตุ้น เช่น การตรวจภายในหรือการมีเพศสัมพันธ์ และเลือดออกครั้งต่อๆ ไปปริมาณและความรุนแรงจะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ สาเหตุุุุุุุุุของการมีเลือดออกเชื่อว่า เกิดจากการลอกตัวของรกเนื่องจากมีการยืดตัวของผนังมดลูกส่วนล่าง หรือมีการบางตัวและขยายของปากมดลูก และการอักเสบของรก อาจมีการหดรัดตัวของมดลูกได้ สิ่งสำคัญของแพทย์เมื่อสงสัยคือ ทำอัลตราซาวด์และตรวจหัวใจเด็ก แพทย์ต้องระมัดระวังอย่างมากในการตรวจภายใน เพราะจะกระตุ้นการลอกของรกให้ตกเลือดรุนแรงได้

สาเหตุ

          เกิดได้ประมาณ 2-5 รายต่อการตั้งครรภ์1000 ราย สาเหตุ ยังไม่มีใครทราบ แต่ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกี่ยวข้องคือ การที่มารดาอายุมาก เช่นพบว่า มารดาอายุ30ปี โอกาสเกิดรกเกาะต่ำมากเป็น 3 เท่าของมารดาอายุ 20 ปี นอกจากนี้การมีรกเกาะต่ำในการตั้งครรภ์ก่อน การเคยผ่าตัดคลอดบุตรมาก่อน เคยทำแท้ง หรือการสูบบุหรี่ก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน

การวินิจฉัย

         จากอาการและการตรวจอัลตร้าซาวด์ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่แม่นยำและไม่มีอันตราย การวินิจฉัยด้วยการตรวจภายในสามารถทำได้แต่ไม่นิยมเนื่องจากทำให้มีอันตรายจากการมีเลือดออก หากจำเป็นต้องวินิจฉัยด้วยการตรวจภายใน (ในกรณีที่ไม่มีเครื่องอัลตร้าซาวด์) จะต้องทำการตรวจในห้องผ่าตัด เนื่องจากต้องเตรียมผู้ป่วยให้สามารถผ่าตัดได้ทันทีในกรณีที่มีเลือดออกมาก

ภาวะแทรกซ้อน

  • เลือดออก : ปัญหาที่ใหญ่สุดเกี่ยวกับรกเกาะต่ำคือ  ถ้าเลือดออกมากอาจทำให้แม่ช็อคและตายได้
  • คลอดก่อนกำหนด : เลือดออกมากอาจต้องทำการผ่าตัดก่อนเด็กครบกำหนดคลอด
  • รกเกาะแน่น(Placenta accreta) : ถ้ารกเกาะลึกและแน่นเกินจะไม่ยอมหลุดจากผนังมดลูกหลังคลอด ซึ่งจะทำให้เลือดออกมาก และอาจจะต้องผ่าตัดเอารกออก


การรักษาและยา

 คุณแม่ตั้งท้องครบกำหนดแล้วหรือไม่ ถ้าครบกำหนดแล้วควรพิจารณาผ่าตัดคลอดเลยโดยไม่ต้องรอให้เจ็บท้อง
ตั้งท้องยังไม่ครบกำหนด พิจารณาดูว่ามีเลือดออกทางช่องคลอดมากน้อยเพียงใด คุณแม่บางรายคุณหมออาจตรวจพบรกเกาะต่ำโดยบังเอิญขณะตรวจด้วยอัลตราซาวนด์เพื่อดูลูกในท้องด้วยเหตุผลอื่นและรกที่เกาะต่ำนั้นก็ไม่ทำให้เลือดออกแต่ประการใด กรณีเช่นนี้สามารถรอได้จนกว่าจะตั้งท้องครบกำหนด
รายที่ตั้งท้องยังไม่ครบกำหนดร่วมกับมีเลือดออกทางช่องคลอดไม่มากนักก็สามารถรอได้เช่นกัน เหตุผลสำคัญในการรอก็คือ เพื่อให้ลูกในท้องมีการเจริญเติบโตต่อไปจนครบกำหนดจะได้ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะระบบการหายใจ ซึ่งพบว่าถ้าให้คลอดก่อนกำหนดลูกในท้องอาจเสียชีวิตได้เนื่องจากปอดยังทำงานไม่ดีพอ ในระหว่างรอนี้คุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่นอนพักมากๆ งดเว้นการทำงานหนักและการมีเพศสัมพันธ์ โดยหวังว่าจะทำให้รกได้รับการกระทบกระเทือนน้อยที่สุด เลือดจะได้หยุดและไม่ไหลออกต่อ
ถ้าภายหลังการพักผ่อนแล้วพบว่าเลือดหยุดไหล คุณหมอจะให้ฝากท้องไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตั้งท้องครบกำหนดแต่ต้องนัดมาดูบ่อยๆ ในคุณแม่บางรายที่คุณหมอไม่แน่ใจว่าถ้าให้กลับบ้านแล้วจะพักผ่อนได้พอเพียง คุณหมอก็อาจให้นอนในโรงพยาบาลตั้งแต่วินิจฉัยได้ว่าเป็นรกเกาะต่ำ และรอจนตั้งท้องครบกำหนดแล้วรีบนำไปผ่าตัดคลอดก่อนที่จะเจ็บท้องคลอด เพราะถ้ารอให้เจ็บท้องเลือดจะออกมากจนเป็นอันตรายได้
คุณแม่บางรายที่ตั้งท้องยังไม่ครบกำหนด แต่เผอิญมีเลือดออกมากและไม่มีทีท่าว่าจะหยุด หรือเลือดเคยหยุดไปแล้วกลับไหลออกมาใหม่ก็จะต้องผ่าตัดคลอดโดยเร็ว แม้ว่าลูกจะยังโตไม่มากพอก็ตาม เพราะถ้าปล่อยท้องไว้อาจเป็นอันตรายต่อตัวคุณแม่เองคืออาจจะเสียเลือดมากจนช็อกได้และในที่สุดลูกในครรภ์ก็จะเสียชีวิตตามมา

ที่มา :

  1.  http://www.mayoclinic.com/health/placenta-previa/DS00588
  2. สุขภาพไทย : ข้อเท็จจริงการแพทย์ รกเกาะต่ำ และตกเลือด ภาวะฉุกเฉินในสตรีมีครรภ์ [online]. , Available from; URL: http://www.thaihealth.net/h/article573.html
  3. http://healthy.in.th/disease/placenta%20previa/

ไม่มีความคิดเห็น: