วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555

การเจาะน้ำคร่ำ





น้ำคร่ำ  
       คือ  น้ำที่่อยู่ในถุง  ซึ่งล้อมรอบทารกในครรภ์อีกทีหนึ่ง  น้ำคร่ำมีองค์ประกอบเป็นน้ำ  98 %  ส่วนที่เป็นของแข็งประกอบด้วยส่วน ต่าง ๆ  2 % ในน้ำคร่ำจะมีเซลล์จากตัวทารกที่หลุดออกล่องลอยอยู่  ทำให้เราสามารถนำมาปั่นหาเซลล์ของทารก  เพื่อการศึกษาและวินิจฉัยโรคได้




ทำไมจึงต้องเจาะน้ำคร่ำ
     เพื่อตรวจหาความผิดปกติทางโครโมโซม  เช่น มีจำนวนมากกว่าปกติ  หรือน้อยกว่าปกติ  หรือมีรูปร่างที่ผิดปกติ  ทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้จะทำให้ทารกมีโอกาสที่จะมีความผิดปกติ




สตรีที่ควรได้รับการเจาะน้ำคร่ำเพื่อหาความผิดปกติทางโครโมโซมของทารก  ได้แก่

  • มีอายุตั้งแต่  35 ปี เป็นต้นไป
  • มีประวัติเคยคลอดบุตรที่ปัญญาอ่อนจากโครโมโซมผิดปกติ
  • มีประวัติเคยคลอดบุตรที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม
  • มีประวัติเคยคลอดบุตรที่มีความพิการแต่กำเนิด

จะเจาะน้ำคร่ำเมื่อไร
      อายุครรภ์ที่เหมาะสมในการเจาะน้ำคร่ำอยู่ในช่วง  16 - 18  สัปดาห์  (ประมาณ 4 เดือน กว่า)   เพราะในช่วงนี้  ทารกจะหนักประมาณ 100 กรัม  และยาวประมาณ 16 เซนติเมตร  และมีน้ำคร่ำประมาณ  150 - 200  ซีซี  ทำให้สามารถทำได้ค่อนข้างง่าย  และช่วงอายุครรภ์นี้เป็นช่วงที่เซลล์ในน้ำคร่ำมีปริมาณมากพอที่จะเพาะเลี้ยงเพื่อการตรวจ  


วิธีการเจาะน้ำคร่ำ ทำอย่างไร
      แพทย์จะตรวจครรภ์ด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์  เพื่อตรวจดูท่าของทารก  อายุครรภ์ที่แน่นอน  ตำแหน่งที่รกเกาะ  และเลือกหาตำแหน่งที่จะเจาะน้ำคร่ำ  วิธีการเจาะให้เทคนิคปราศจากเชื้อ  และฉีดยาชาเฉพาะที่ตำแหน่งที่จะใช้เข็มเจาะ  เจาะผ่านโพรงมดลูกเข้าไปในถุงน้ำคร่ำ  ขณะที่เจาะ  แพทย์จะใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ดูตำแหน่งเข็มตลอดเวลา  เพื่อไม่ให้โดนตัวของทารกและรก  ดังนั้นโอกาสที่จะได้รับอันตรายจึงมีน้อยมาก 

อันตรายจากการเจาะน่ำคร่ำ
     ปัจจุบันแพทย์ที่ทำการเจาะน้ำคร่ำมีประสบการณ์และความชำนาญมาก   ฉะนั้นภาวะแทรกซ้อนหรืออันตรายที่จะเกิดจากการเจาะน้ำคร่ำนั้นมีน้อยมากๆ  ที่พบได้แก่  การติดเชื้อ  น้ำคร่ำรั่วซึม  ตลอดจนการแท้งบุตร

การเตรียมตัวก่อนการเจาะน้ำคร่ำ
     แพทย์จะให้ความรู้และอธิบายเกี่ยวกับการเจาะน้ำคร่ำให้คู่สามีและภรรยาทราบก่อน  จากนั้นจึงเป็นการตัดสินใจว่าจะรับการตรวจหรือไม่
      ถ้าตัดสินใจว่าจะรับการตรวจน้ำคร่ำ  ท่านไม่ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ แต่ประการใดสามารถตรวจได้ทันที


การปฏิบัติตัวหลังการเจาะน้ำคร่ำ
     หลังการเจาะน้ำคร่ำแพทย์จะให้นอนพักประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง  ท่านจะได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์ซ้ำว่าทารกยังอยู่ในสภาพปกติ  เพื่อให้ความมั่นใจและลดความวิตกกังวลของมารดา  หลังจากนั้นจึงอนุญาตให้กลับบ้านได้


การปฏิบัติตัวที่บ้าน 
  1. ถ้าปวดแผลบริเวรที่เจาะสามารถรับประทานยาแก้ปวดได้
  2. ไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดบริเวณที่เจาะแต่อย่างใด  อาบน้ำได้ตามปกติ
  3. หลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนบริเวณหน้าท้อง  เช่น ยกของหนัก  หรือการขึ้นลงบันได
  4. ถ้ามีอาการผิดปกติ  เช่น  มีเลือดออกทางช่องคลอด  น้ำเดิน  มีไข้  ปวดท้องมากให้รีบมาพบแพทย์ทันที

ที่มา :  การเจาะน้ำคร่ำในสตรีตั้งครรภ์  , รศ.นพ.วิทยา  ถิฐาพันธุ

ไม่มีความคิดเห็น: