วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555

การแต่งกายสำหรับคนท้อง


         มีเรื่องมามายหลายสิ่งที่คุณแม่ต้องกังวลใจ เรื่องชุดคลุมท้องเองก็มีความสำคัญไม่น้อยนัก เพื่อให้ยังคงบุคลิกภาพที่ดีอยู่ได้ ต้องติดตามบทความนี้

ไตรมาสที่ 1 คุณแม่ท้องอ่อน
     แม้ว่าจะไม่มีใครสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงทางสรีระของคุณแม่เพราะ ช่วงนี้ท้องจะยังเล็กจนแทบจะไม่รู้ึกเหมือนคนตั้งครรภ์ ยิ่งทำให้คุณแม่คิดเอาเองว่าจะใส่ชุดอะไรก็ได้ แต่ความจริงแล้วช่วงท้องอ่อนนี่แหล่ะที่มีความสำคัญ และระมัดระวังให้มาก คุณหมอจึงมักแนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กระทบกระเทือนต่อทารกในครรภ์ เช่นเดียวับการเลือกชุดคลุมท้อง แม้ว่าจะเลือกชุดคลุมท้องตัวเก่งไม่ได้ แต่คุณแม่ไม่ควรเลือกใส่ชุดที่รัดหน้าท้องจนเกินไป เพื่อให้ยังคงความสวยและไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

ไตรมาสที่ 2 ท้องกลาง 
      พอเข้าไตรมาสที่ 2 สะโพก ก้น ท้อง เริ่มขยาย ส่วนไหล่ แขน ยังไม่ค่อยขยายออกมากนัก ฉะนั้นการเลือกเสื้อผ้าในช่วงนี้คุณแม่ต้องคำนึงถึงร่างกายส่วนล่างที่ขยายมากขึ้นกว่าเดิม เช่น การเลือกกางเกงสำหรับคนท้อง โดยเฉพาะที่มีขอบขยายด้วยยางยืด เพื่อเน้นการรองรับขนาดท้อง และพยุงเข้ารูปกับสัดส่วนของท้องที่เริ่มขยาย ส่วนกางเกงยีนส์หรือกางเกงตัวเก่งที่ยังคงพอจะใส่ได้อยู่ก็ควรจะเก็บเข้าตู้เสีย ทางที่ดีควรเลือกชุดกระโปรงที่ไม่ลัดหน้าท้อง 

ไตรมาสที่ 3 ท้องเป่ง ใกล้คลอด 
      ช่วงนี้คุณแม่อาจเริ่มรู้สึกอึดอัดบ้างแล้ว เพราะอะไรๆ ก็ดูใหญ่ไปหมด ทั้งท้อง สะโพก แขน ขา การเลือกหาชุดคลุมท้องช่วงนี้ควรเลือกชุดคลุมสไตล์บอลลูน (คือกระโปรงที่มีการจับชายด้านล่าง) รวมถึงการเลือกเสื้อที่มีการจับจีบใต้อก จะช่วยอำพรางรูปร่างและไม่อึดอัดมาก



ที่มา :  http://readybabyguide.blogspot.com

วิธีป้องกันหน้าท้องลาย



        ความสวยความงามกับผู้หญิงนั้นเป็นเรื่องที่แทบจะแยกออกจากกันไม่ได้ กระทั่งในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์ คุณแม่หลายๆ ท่านก็คงอดกังวลไม่ได้ว่า ผิวสวยๆ จะกลับมาเนียนใสได้ดังเดิมหรือเปล่า โดยเฉพาะผิวหนังบริเวณหน้าท้องที่มีการขยายตัวออกมาก ดังนั้นนอกจากว่าที่คุณแม่จะการบำรุงสุขภาพเพื่อลูกน้อยในครรภ์แล้ว คุณแม่ส่วนใหญ่ก็ยังหาสารพัดวิธีป้องกันอาการท้องลายอีกด้วย  3 เคล็ดลับง่ายๆ ที่คุณทำได้เอง เพื่อป้องกันผิวสวยๆ ให้หมดห่วงจากอาการท้องลายค่ะ
1. ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ 

     ช่วงไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ ผิวหนังบริเวณท้องของคุณแม่จะมีการขยายตัวมากและเริ่มตึง เริ่มจากท้องน้อย ไปถึงบริเวณสะโพกหรือต้นขาจนทำให้เกิดอาการผิวหนังแตก กระทั่งหลังคลอดบุตร อาการตึงของผิวหนังจะลดลง จนเกิดเป็นรอยสีจาง ที่เราเรียกกันว่าอาการผิวแตกลายนั่นเอง ซึ่งหากเป็นขึ้นมาแล้ว ก็ยากที่จะทำการรักษาให้หายได้ วิธีการที่ดีที่สุด จึงเป็นการป้องกัน ซึ่งควรเริ่มตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการตั้งครรภ์ โดยการทาครีมบำรุง น้ำมันมะกอก หรือเบบี้โลชั่น เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้ผิวหนัง และลดอาการคันจากการที่ผิวหนังแห้งตึงได้
2. บำรุงผิวถูกวิธี มีชัยไปกว่าครึ่ง 

     เริ่มจากการเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ควรเป็นชนิดที่มีสารสกัดจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันมะกอก หรือโลชั่นสำหรับเด็กที่มีส่วนผสมของมอยส์เจอไรเซอร์ หลังอาบน้ำและเช็ดตัวให้หมาดๆ แล้ว ควรทาครีมบำรุงหรือน้ำมันมะกอกบริเวณท้อง สะโพก ต้นขา ทุกครั้งทันทีเพราะผิวช่วงนี้จะเก็บความชุ่มชื้นได้ดีที่สุด นอกจากนี้คุณแม่ยังจะต้องทาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวอย่างต่อเนื่องไปจนถึงช่วงใกล้คลอด โดยอาจจะทาวันละหลายๆ ครั้ง หรือเมื่อใดก็ตามที่รู้สึกคันบริเวณผิวที่ขยายตัว โดยเพิ่มปริมาณเนื้อครีมให้มากขึ้นตามอายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้นด้วย ก็จะช่วยลดปัญหาหน้าท้องแตกลายหลังคลอดได้
3. เคล็ดลับง่ายๆ ด้วยการอาบน้ำ 

     คุณแม่หลายท่านคงนึกไม่ถึงว่าการอาบน้ำก็สามารถช่วยป้องกันการเกิดอาการผิวแตกลายได้ โดยการเลือกอาบน้ำที่อุณหภูมิห้อง แทนการอาบน้ำอุ่นจัดๆ เพราะจะยิ่งทำให้ผิวแห้งเป็นขุย ซึ่งจะส่งผลทำให้หน้าท้องแตกลายมากยิ่งขึ้น

ที่มา : http://women.kapook.com

อาการแพ้ท้อง




อาการแพ้ท้องเกิดจากอะไร

        เชื่อกันว่าอาการแพ้ท้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย ซึ่งรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "HCG" (Human Chorionic Gonadotropin) ที่เพิ่มสูงขึ้น และประสาทรับกลิ่นมีความไวมากขึ้น แม้แต่สภาพอารมณ์หรือระดับความเครียดก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ท้องได้เช่นกัน ดังนั้นคุณแม่จึงควรหาเวลาผ่อนคลายความเครียดให้มากๆ  ถึงแม้ว่าอาการแพ้ท้องอาจทำให้คุณรู้สึกวิตกกังวล แต่หากคุณสามารถรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ตามปกติ อาการแพ้ท้องก็จะไม่เป็นอันตรายกับลูกน้อยของคุณอย่างแน่นอน แต่หากคุณไม่สามารถรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้เลยหรือรู้สึกเบื่ออาหารทุกชนิด ควรปรึกษาสูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์ของคุณพวกเขาสามารถช่วยคุณได้แน่นอน


อาการแพ้ท้องจะคงอยู่เป็นระยะเวลานานเท่าใด

        โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการแพ้ท้อง จะหมดไปในช่วงเดือนที่ 3 ของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม อาการคลื่นไส้อาเจียนอาจเกิดขึ้นได้อีกตลอดช่วงตั้งครรภ์ เพียงแค่ได้กลิ่นบางอย่างที่ชวนให้คลื่นเหียนอาเจียน และแน่นอนว่ากลิ่นที่ชวนให้รู้สึกคลื่นเหียนอาเจียนก็แตกต่างกันไปในแต่ละคน


มีวิธีการรักษาอาการแพ้ท้อง
  
  • รับประทานของขบเคี้ยวง่ายๆ และไม่หวานมากทันทีที่คุณตื่นนอน เช่น บิสกิตหรือขนมปังกรอบจะช่วยได้อย่างมาก จากนั้น ให้นอนพักอีก 20-30 นาที ก่อนลุกออกจากเตียง
  • ในช่วงที่เหลือระหว่างวัน พยายามรับประทานครั้งละน้อยๆ แต่รับประทานบ่อยๆ ทานอะไรสักหน่อย ดีกว่าไม่ได้ทานอะไรเลยหรือซื้อของขบเคี้ยวมาเก็บไว้ เช่น ขนมปังกรอบหรือโยเกิร์ตไว้รับประทานเวลาหิว
  • อาหารที่มีโปรตีนหรือคาร์โบไฮเดรตสูงสามารถช่วยป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ เพราะฉะนั้น พยายามรับประทานอาหารทั้งสองชนิดนี้ร่วมกัน เช่น รับประทานไข่สุกกับขนมปังปิ้ง
  • ดื่มน้ำมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเปล่า น้ำผลไม้ นม ชาผลไม้ น้ำอะไรก็ตามที่คุณสามารถดื่มได้ น้ำขิงหรือชาขิงจะช่วยให้อาการคลื่นไส้อาเจียนลดลงและทำให้หายจากอาการแพ้ท้องได้ ที่สำคัญ อย่าลืมหาเวลาผ่อนคลายเพื่อกำจัดความเครียดที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน การพูดคุยกับว่าที่คุณแม่คนอื่นๆ ที่มีอาการแพ้ท้องเช่นเดียวกันก็สามารถช่วยผ่อนคลายได้


ที่มา :  http://www.dumex.co.th


วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555

การเจาะน้ำคร่ำ





น้ำคร่ำ  
       คือ  น้ำที่่อยู่ในถุง  ซึ่งล้อมรอบทารกในครรภ์อีกทีหนึ่ง  น้ำคร่ำมีองค์ประกอบเป็นน้ำ  98 %  ส่วนที่เป็นของแข็งประกอบด้วยส่วน ต่าง ๆ  2 % ในน้ำคร่ำจะมีเซลล์จากตัวทารกที่หลุดออกล่องลอยอยู่  ทำให้เราสามารถนำมาปั่นหาเซลล์ของทารก  เพื่อการศึกษาและวินิจฉัยโรคได้




ทำไมจึงต้องเจาะน้ำคร่ำ
     เพื่อตรวจหาความผิดปกติทางโครโมโซม  เช่น มีจำนวนมากกว่าปกติ  หรือน้อยกว่าปกติ  หรือมีรูปร่างที่ผิดปกติ  ทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้จะทำให้ทารกมีโอกาสที่จะมีความผิดปกติ




สตรีที่ควรได้รับการเจาะน้ำคร่ำเพื่อหาความผิดปกติทางโครโมโซมของทารก  ได้แก่

  • มีอายุตั้งแต่  35 ปี เป็นต้นไป
  • มีประวัติเคยคลอดบุตรที่ปัญญาอ่อนจากโครโมโซมผิดปกติ
  • มีประวัติเคยคลอดบุตรที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม
  • มีประวัติเคยคลอดบุตรที่มีความพิการแต่กำเนิด

จะเจาะน้ำคร่ำเมื่อไร
      อายุครรภ์ที่เหมาะสมในการเจาะน้ำคร่ำอยู่ในช่วง  16 - 18  สัปดาห์  (ประมาณ 4 เดือน กว่า)   เพราะในช่วงนี้  ทารกจะหนักประมาณ 100 กรัม  และยาวประมาณ 16 เซนติเมตร  และมีน้ำคร่ำประมาณ  150 - 200  ซีซี  ทำให้สามารถทำได้ค่อนข้างง่าย  และช่วงอายุครรภ์นี้เป็นช่วงที่เซลล์ในน้ำคร่ำมีปริมาณมากพอที่จะเพาะเลี้ยงเพื่อการตรวจ  


วิธีการเจาะน้ำคร่ำ ทำอย่างไร
      แพทย์จะตรวจครรภ์ด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์  เพื่อตรวจดูท่าของทารก  อายุครรภ์ที่แน่นอน  ตำแหน่งที่รกเกาะ  และเลือกหาตำแหน่งที่จะเจาะน้ำคร่ำ  วิธีการเจาะให้เทคนิคปราศจากเชื้อ  และฉีดยาชาเฉพาะที่ตำแหน่งที่จะใช้เข็มเจาะ  เจาะผ่านโพรงมดลูกเข้าไปในถุงน้ำคร่ำ  ขณะที่เจาะ  แพทย์จะใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ดูตำแหน่งเข็มตลอดเวลา  เพื่อไม่ให้โดนตัวของทารกและรก  ดังนั้นโอกาสที่จะได้รับอันตรายจึงมีน้อยมาก 

อันตรายจากการเจาะน่ำคร่ำ
     ปัจจุบันแพทย์ที่ทำการเจาะน้ำคร่ำมีประสบการณ์และความชำนาญมาก   ฉะนั้นภาวะแทรกซ้อนหรืออันตรายที่จะเกิดจากการเจาะน้ำคร่ำนั้นมีน้อยมากๆ  ที่พบได้แก่  การติดเชื้อ  น้ำคร่ำรั่วซึม  ตลอดจนการแท้งบุตร

การเตรียมตัวก่อนการเจาะน้ำคร่ำ
     แพทย์จะให้ความรู้และอธิบายเกี่ยวกับการเจาะน้ำคร่ำให้คู่สามีและภรรยาทราบก่อน  จากนั้นจึงเป็นการตัดสินใจว่าจะรับการตรวจหรือไม่
      ถ้าตัดสินใจว่าจะรับการตรวจน้ำคร่ำ  ท่านไม่ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ แต่ประการใดสามารถตรวจได้ทันที


การปฏิบัติตัวหลังการเจาะน้ำคร่ำ
     หลังการเจาะน้ำคร่ำแพทย์จะให้นอนพักประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง  ท่านจะได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์ซ้ำว่าทารกยังอยู่ในสภาพปกติ  เพื่อให้ความมั่นใจและลดความวิตกกังวลของมารดา  หลังจากนั้นจึงอนุญาตให้กลับบ้านได้


การปฏิบัติตัวที่บ้าน 
  1. ถ้าปวดแผลบริเวรที่เจาะสามารถรับประทานยาแก้ปวดได้
  2. ไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดบริเวณที่เจาะแต่อย่างใด  อาบน้ำได้ตามปกติ
  3. หลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนบริเวณหน้าท้อง  เช่น ยกของหนัก  หรือการขึ้นลงบันได
  4. ถ้ามีอาการผิดปกติ  เช่น  มีเลือดออกทางช่องคลอด  น้ำเดิน  มีไข้  ปวดท้องมากให้รีบมาพบแพทย์ทันที

ที่มา :  การเจาะน้ำคร่ำในสตรีตั้งครรภ์  , รศ.นพ.วิทยา  ถิฐาพันธุ

รกเกาะต่ำ (placenta previa)



รก 
      คืออวัยวะพิเศษ ที่สร้างขึ้นมาในช่วงตั้งครรภ์ ทำหน้าที่ส่งอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงทารกและกำจัดของเสีย โดยด้านหนึ่งของรก ต่อกับเส้นเลือดที่สายสะดือของเด็ก อีกด้านของรก จะเกาะกับผนังมดลูก เลือดลูกกับแม่จะไม่ผสมกัน แต่จะมีการแลกเปลี่ยนสารระหว่างกัน
ในภาวะปกติ รกจะเกาะสูงขึ้นไปในมดลูก (ในระยะแรก ๆ จะเกาะต่ำ ๆ ได้ถึง20% แต่เมื่อการตั้งครรภ์พัฒนาไป จะเลื่อนขึ้นด้านบนไปเรื่อย ๆ)



ภาวะรกเกาะต่ำ 

         หมายถึง  ภาวะที่รกเกาะต่ำลงจากปกติที่อยู่สูงขึ้นไปในมดลูก บางครั้ง เกาะต่ำลงมาถึงปากช่องคลอด และทำให้เกิดปัญหา คือ เลือดออกในช่วงที่ปากช่องคลอดขยายตัว คือช่วงครึ่งหลัง (3-8 เดือน)ของการตั้งครรภ์ และถ้าเป็นมาก อาจทำให้ตกเลือด เด็กไม่สามารถคลอดตามปกติ ต้องผ่าตัดคลอดเนื่องจากมีรกขวางอยู่

ชนิดของรกเกาะต่ำ แบ่งออกเป็น 3 แบบใหญ่ ๆ ตามความรุนแรงคือ
  1. รกเกาะคลุมปากมดลูกทั้งหมด ซึ่งจัดว่ารุนแรงที่สุด เพราะรกจะปิดปากมดลูกทั้งหมด
  2. รกเกาะคลุมปากมดลูกเป็นบางส่วน 
  3. รกเกาะบริเวณด้านล่างของมดลูกแต่ไม่คลุมปากมดลูก กรณีนี้สามารถปล่อยให้ลูกคลอดทางช่องคลอดได้ แต่ต้องระวังว่ามีโอกาสที่เลือดจะออกมากได้เช่นกัน แม้ว่าจะน้อยกว่า 2 กรณีแรกก็ตา

อาการ

         เลือดออกทางช่องคลอด ในอายุครรภ์มากกว่า 6 เดือน มักไม่ปวดท้อง และเป็นเลือดสดๆ ส่วนใหญ่เลือดที่ออกครั้งแรก จะออกไม่มากและสามารถหยุดได้เองถ้าไม่ได้รับสิ่งกระตุ้น เช่น การตรวจภายในหรือการมีเพศสัมพันธ์ และเลือดออกครั้งต่อๆ ไปปริมาณและความรุนแรงจะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ สาเหตุุุุุุุุุของการมีเลือดออกเชื่อว่า เกิดจากการลอกตัวของรกเนื่องจากมีการยืดตัวของผนังมดลูกส่วนล่าง หรือมีการบางตัวและขยายของปากมดลูก และการอักเสบของรก อาจมีการหดรัดตัวของมดลูกได้ สิ่งสำคัญของแพทย์เมื่อสงสัยคือ ทำอัลตราซาวด์และตรวจหัวใจเด็ก แพทย์ต้องระมัดระวังอย่างมากในการตรวจภายใน เพราะจะกระตุ้นการลอกของรกให้ตกเลือดรุนแรงได้

สาเหตุ

          เกิดได้ประมาณ 2-5 รายต่อการตั้งครรภ์1000 ราย สาเหตุ ยังไม่มีใครทราบ แต่ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกี่ยวข้องคือ การที่มารดาอายุมาก เช่นพบว่า มารดาอายุ30ปี โอกาสเกิดรกเกาะต่ำมากเป็น 3 เท่าของมารดาอายุ 20 ปี นอกจากนี้การมีรกเกาะต่ำในการตั้งครรภ์ก่อน การเคยผ่าตัดคลอดบุตรมาก่อน เคยทำแท้ง หรือการสูบบุหรี่ก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน

การวินิจฉัย

         จากอาการและการตรวจอัลตร้าซาวด์ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่แม่นยำและไม่มีอันตราย การวินิจฉัยด้วยการตรวจภายในสามารถทำได้แต่ไม่นิยมเนื่องจากทำให้มีอันตรายจากการมีเลือดออก หากจำเป็นต้องวินิจฉัยด้วยการตรวจภายใน (ในกรณีที่ไม่มีเครื่องอัลตร้าซาวด์) จะต้องทำการตรวจในห้องผ่าตัด เนื่องจากต้องเตรียมผู้ป่วยให้สามารถผ่าตัดได้ทันทีในกรณีที่มีเลือดออกมาก

ภาวะแทรกซ้อน

  • เลือดออก : ปัญหาที่ใหญ่สุดเกี่ยวกับรกเกาะต่ำคือ  ถ้าเลือดออกมากอาจทำให้แม่ช็อคและตายได้
  • คลอดก่อนกำหนด : เลือดออกมากอาจต้องทำการผ่าตัดก่อนเด็กครบกำหนดคลอด
  • รกเกาะแน่น(Placenta accreta) : ถ้ารกเกาะลึกและแน่นเกินจะไม่ยอมหลุดจากผนังมดลูกหลังคลอด ซึ่งจะทำให้เลือดออกมาก และอาจจะต้องผ่าตัดเอารกออก


การรักษาและยา

 คุณแม่ตั้งท้องครบกำหนดแล้วหรือไม่ ถ้าครบกำหนดแล้วควรพิจารณาผ่าตัดคลอดเลยโดยไม่ต้องรอให้เจ็บท้อง
ตั้งท้องยังไม่ครบกำหนด พิจารณาดูว่ามีเลือดออกทางช่องคลอดมากน้อยเพียงใด คุณแม่บางรายคุณหมออาจตรวจพบรกเกาะต่ำโดยบังเอิญขณะตรวจด้วยอัลตราซาวนด์เพื่อดูลูกในท้องด้วยเหตุผลอื่นและรกที่เกาะต่ำนั้นก็ไม่ทำให้เลือดออกแต่ประการใด กรณีเช่นนี้สามารถรอได้จนกว่าจะตั้งท้องครบกำหนด
รายที่ตั้งท้องยังไม่ครบกำหนดร่วมกับมีเลือดออกทางช่องคลอดไม่มากนักก็สามารถรอได้เช่นกัน เหตุผลสำคัญในการรอก็คือ เพื่อให้ลูกในท้องมีการเจริญเติบโตต่อไปจนครบกำหนดจะได้ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะระบบการหายใจ ซึ่งพบว่าถ้าให้คลอดก่อนกำหนดลูกในท้องอาจเสียชีวิตได้เนื่องจากปอดยังทำงานไม่ดีพอ ในระหว่างรอนี้คุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่นอนพักมากๆ งดเว้นการทำงานหนักและการมีเพศสัมพันธ์ โดยหวังว่าจะทำให้รกได้รับการกระทบกระเทือนน้อยที่สุด เลือดจะได้หยุดและไม่ไหลออกต่อ
ถ้าภายหลังการพักผ่อนแล้วพบว่าเลือดหยุดไหล คุณหมอจะให้ฝากท้องไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตั้งท้องครบกำหนดแต่ต้องนัดมาดูบ่อยๆ ในคุณแม่บางรายที่คุณหมอไม่แน่ใจว่าถ้าให้กลับบ้านแล้วจะพักผ่อนได้พอเพียง คุณหมอก็อาจให้นอนในโรงพยาบาลตั้งแต่วินิจฉัยได้ว่าเป็นรกเกาะต่ำ และรอจนตั้งท้องครบกำหนดแล้วรีบนำไปผ่าตัดคลอดก่อนที่จะเจ็บท้องคลอด เพราะถ้ารอให้เจ็บท้องเลือดจะออกมากจนเป็นอันตรายได้
คุณแม่บางรายที่ตั้งท้องยังไม่ครบกำหนด แต่เผอิญมีเลือดออกมากและไม่มีทีท่าว่าจะหยุด หรือเลือดเคยหยุดไปแล้วกลับไหลออกมาใหม่ก็จะต้องผ่าตัดคลอดโดยเร็ว แม้ว่าลูกจะยังโตไม่มากพอก็ตาม เพราะถ้าปล่อยท้องไว้อาจเป็นอันตรายต่อตัวคุณแม่เองคืออาจจะเสียเลือดมากจนช็อกได้และในที่สุดลูกในครรภ์ก็จะเสียชีวิตตามมา

ที่มา :

  1.  http://www.mayoclinic.com/health/placenta-previa/DS00588
  2. สุขภาพไทย : ข้อเท็จจริงการแพทย์ รกเกาะต่ำ และตกเลือด ภาวะฉุกเฉินในสตรีมีครรภ์ [online]. , Available from; URL: http://www.thaihealth.net/h/article573.html
  3. http://healthy.in.th/disease/placenta%20previa/

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2555

ลำไส้อุดตันในเด็กแรกเกิด



95% ของทารกแรกเกิด จะถ่ายขี้เทาภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และ 98% ใน 48 ชั่วโมง แต่ถ้าลูกน้อยของคุณไม่ถ่ายภายใน 24-48 ชั่วโมงแล้ว ก็ขอให้นึกถึง "ภาวะลำไส้อุดตันในเด็กแรกเกิด" ซึ่งถือเป็นภาวะร้ายแรงที่ทำให้เด็กเสียชีวิตได้เลยค่ะ

สาเหตุ

ลำไส้อุดตันในเด็กแรกเกิดนั้น มักเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างในระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่กระเพาะอาหารจนถึงลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีการตีบตัน หรืออาจจะเป็นจากตำแหน่งของระบบทางเดินอาหารวางตัวผิดที่ ทำให้เกิดการบิดและพันกันของลำไส้เล็ก ทำให้ไม่สามารถนำอุจจาระเคลื่อนลงสู่รูก้น แต่ไม่มีสาเหตุทางพันธุกรรมหรือการติดเชื้อใดๆ

อาการ

เนื่องจากโรคนี้มักมีอาการตั้งแต่แรกเกิด คุณแม่มือใหม่ยิ่งต้องอาศัยการสังเกตให้ดี ถ้าลูกน้อยมีอาการดังต่อไปนี้ค่ะ

1. ลูกอาเจียนพุ่งเกือบทุกครั้งที่กินนม บางครั้งอาจมีอาเจียนเป็นน้ำดีปนร่วมด้วย ซึ่งขึ้นกับตำแหน่งของ การอุดตัน คือ

       เกิดการอุดตันที่ลำไส้เล็ก มักมีอาการปวดบิดเกร็งเป็นพัก ๆ บริเวณรอบ ๆ สะดือและอาเจียนพุ่งรุนแรงติด ๆ กัน มักมีเศษอาหารหรือน้ำดีออกมา

       เกิดการอุดตันที่ลำไส้ใหญ่ มักไม่มีอาการอาเจียนหรือไม่มีเพียงเล็กน้อย ไม่ผายลม มีอาการท้องอืด ซึ่งอาจไม่ชัดเจนในระยะแรก แต่ต่อมาจะค่อย ๆ มีมากขึ้น นอกจากนี้ไม่ว่าการอุดตันจะเกิดตรงตำแหน่งใด ๆ ถ้าการอุดตันเป็นไปอย่างสมบูรณ์ มักจะมีอาการท้องผูกร่วมด้วยเสมอ
 
2. ไม่ถ่ายขี้เทาหรือมีความผิดปกติในการถ่ายขี้เทา ไม่ว่าจะเป็นถ่ายขี้เทาช้ากว่าปกติหรือปริมาณน้อยและสีซีดกว่าปกติ
 
3. ไม่ค่อยถ่ายหรือผายลม เหมือนเด็กปกติ ท้องอืด ซึ่งอาการมักเกิดขึ้นให้เห็นผิดสังเกตประมาณ 2-3 วัน 
 
4. เลี้ยงไม่โต น้ำหนักตัวขึ้นไม่ดีหรือลดลง
 
อาการข้างต้นนี้ถ้าเป็นอยู่หลายวัน เด็กมักมีภาวะขาดน้ำ และอาจมีภาวะช็อก (เหงื่อออก ตัวเย็น กระสับกระส่าย ชีพจรเบาเร็ว ความดันตก ปัสสาวะออกน้อย) บางครั้งอาจมองเห็นการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่หน้าท้อง และอาจคลำได้ก้อนที่บริเวณส่วนที่ปลายของกระเพาะอาหาร ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษา เด็กจะมีภาวะขาดน้ำ ซึมชัก และเสียชีวิตได้
 
การรักษา

หากสงสัยให้รีบนำลูกน้อยส่งโรงพยาบาลด่วน ต้องเอกซเรย์ และทำการผ่าตัดด่วน การรักษา โดยมากมักต้องทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติ ซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ศัลยกรรมเด็กและกุมารแพทย์ร่วมกัน
 

ที่มา  :  www.kapook.com


วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2555

มือ เท้า ปาก



สาเหตุของโรค

       เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส กลุ่มที่อยู่ในลำไส้คน มักพบเป็นในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งทารก และเด็กเล็กมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้ง่าย และจะมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต ส่วนผู้ใหญ่ก็พบเป็นโรคนี้ได้ โรคนี้มักพบในสถานเลี้อยงเด็ก และโรงเรีียนอนุบาล ในประเทศไทยพบโรคนี้ได้บ่อยแต่มักไม่มีความรุนแรงและหายได้เองภายใน 7-10 วัน บางรายอาจมีอันตรายจากภาวะแทรกซ้อน

การติดต่อของโรค

        เชื้อโรค อยู่ในน้ำลาย น้ำมูก อุจจาระ น้ำในตุ่มพองหรือแผนของผู้ป่วย เชื้อโรคเข้าทางปากโดยตรงซึ่งอาจติดมากับมือ ของเล่น ไอ จาม หรือใช้ภาชนะในการรับประทานหรือดื่มร่วมกัน โรคนี้จะติดต่อกันได้ง่าย ในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย และจะพบเชื้อในอุจจาระผู้ป่วยได้นานประมาณ 12 สัปดาห์ หลังจากเริ่มป่วย

อาการของโรค

่1. มีไข้ 2-4 วัน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บภายในปากและคอ ปวดเมื่อยตามตัว คล้ายไข้หวัด
2. มีจุดหรือผื่นแดงอักเสบที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือที่ก้น ต่อมาผื่นนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบ ๆ แดง และแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ ถ้าเด็กมีอาการเหล่านี้หรือซึม ไม่รับประทานอาหารและน้ำ น้ำลายไหล อาเจียนบ่อย ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที

ภาวะแทรกซ้อน

ผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็ก ๆ หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก สมองอักเสบ เยื้อหุ้มสมองอักเสบ และปอดบวม ซึ่งภาวะแทรกซ้อนนี้เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้

การป้องกันโรค

        1. ควรดูแลรักษาความสะอาดทั่วไป และสุขอนามัยส่วนบุคคล โดยล้างมือ ฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังขับถ่ายทุกครั้ง
        2. รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงใหม่ ๆ ไม่มีแมลงวันตอม
        3. ควรใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูด ช้อน ขวดนมร่วมกับผู้อื่น
        4. หลีกเลี่ยงการคลุกคลี อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายป่วย
        5. หลีกเลี่ยงการนำทารกและเด็กเล็กเข้าไปในสถานที่แออัด หรือที่ ๆ เด็กอยู่ร่วมกันจำนวนมาก หรือเล่นของเล่นร่วมกันในที่สาธารณะในช่วงที่มีโรคระบาดมาก
        6. ผู้ดูแลเด็กต้องตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือบ่อย ๆ และรีบล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว เมื่อเช็ดน้ำมูก น้ำลาย หรือเปลี่ยนผ้าอ้อม เสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระ
        7. ทำความสะอาดพื้น เครื่องใช้หรือของเล่น เด็กที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอด้วยน้ำยาฟอกขาว(คลอร็อกซ์) อัตราส่วน น้ำยา 20 ซีซี ต่อน้ำ 1,000 ซีซี และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งหนึ่ง
       8. ถ้าพบผู้ป่วยเป็นโรค มือ เท้า ปาก ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่โดยเร็ว เพื่อดำเนินการควบคุมโรคต่อไป

ที่มา : http://www.pbi2.obec.go.th 

วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555

เตรียมพร้อมก่อนการคลอด



เตรียมพร้อม...ก่อนคลอด

        การเตรียมความพร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ และของใช้ต่างๆ จะช่วยให้คุณแม่ไปคลอดได้อย่างผ่อนคลายขึ้น ว่าแต่ว่าต้องเตรียมเรื่องอะไรนั้น ไปดูกันค่ะ

1. โรงพยาบาล

- ปรึกษากับคุณหมอตลอดเวลาหากมีปัญหาข้อสงสัยเกี่ยวกับการตั้งครรภ์

- ในกรณีที่คุณแม่ฝากท้องที่เป็นโรงพยาบาลเอกชน (บางแห่ง) ช่วงนี้
   อาจจะขอเข้าไปดูสถานที่ เช่น ห้องคลอดหรือห้องเด็ก และลองสอบ
   ถามว่าสามารถให้คุณพ่อเข้าไปเป็นกำลังใจคุณแม่ในวันคลอดได้
   หรือไม่ เพื่อจะได้เตรียมตัว

- นอกจากนี้ก็ต้องคำนวณเรื่องค่าใช้จ่ายให้พร้อมด้วยนะคะ

- อาจต้องลองขับรถเพื่อคำนวณระยะเวลาในการเดินทางจากบ้านไป
  โรงพยาบาล หรือหาเส้นทางที่เดินทางไปสะดวกที่สุด เร็วที่สุดค่ะ
  ถ้าเป็นไปได้เตรียมเส้นทางสำรองไว้ด้วยก็ดีนะคะ


2. เตรียมกาย

- เตรียมเรื่องอาหารการกิน ควรกินอาหารที่มีโปรตีนเยอะๆ แต่ลดอาหาร
  รสจัด เช่น เค็ม เผ็ด เปรี้ยว โดยเฉพาะเผ็ด เพราะจะทำให้คุณแม่บวม
  กินผักผลไม้ควบคู่ด้วย เพื่อลดอาการท้องผูก

- ควรกินยาบำรุงตามที่คุณหมอให้มาให้ครบ เช่น ยาบำรุงเลือด วิตามิน
  รวม และแคลเซียม เพราะช่วงคลอดคุณแม่ต้องสูญเสียเลือดเยอะ
  การกินยาบำรุงจะทำให้คุณแม่ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

- หาซื้อของใช้ที่จำเป็นทั้งของคุณแม่และคุณลูกไว้ให้พร้อม เพราะ
  หลังคลอดจะไม่มีเวลาออกไปหาซื้อแล้วค่ะ

3. เตรียมคลอด

- จะคลอดเองหรือผ่าท้องคลอด ในกรณีที่คุณแม่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าต้องผ่าท้องคลอด ก็ควรจะคลอดเอง

- วางแผนหลังคลอด ว่าจะทำหมันหรือเปล่า ถ้าต้องการทำหมันจะได้แจ้งให้คุณหมอทราบล่วงหน้า เพื่อความสะดวกใน การเตรียมตัวของคุณหมอด้วย


4. เตรียมจิตใจ

- คุณแม่ควรฝึกเกร็งและคลายกล้ามเนื้อ ฝึกหายใจ ฝึกคลายอาการเจ็บท้อง ซึ่งส่วนใหญ่โรงพยาบาลที่ฝากครรภ์จะมี คอร์สแนะนำและฝึกคุณแม่เพื่อให้ทราบวิธีสังเกตตัวเองในช่วงก่อนคลอด รวมทั้งวิธีหายใจที่ถูกต้องในการคลอด เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณแม่คลายความกังวลลงได้ค่ะ

- คุณแม่ต้องเตรียมรับกับภาวะซึมเศร้าที่อาจเกิดขึ้นได้หลังคลอดด้วย เช่น ร้องไห้ทั้งวัน กลัวสามีไม่รักและถูกทอดทิ้งกลัวไม่สวย เป็นต้น และสอบถามวิธีแก้ไขกับคุณหมอเพื่อนำมาปฏิบัติด้วยค่ะ

อาการเตือนก่อนคลอด

1. ปวดท้องอย่างรุนแรงตลอดเวลาทุก 3 นาที และเจ็บครั้งละประมาณ 40 วินาที

2. มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด แม้ไม่เจ็บท้องก็ต้องไปโรงพยาบาล

3. มีน้ำคร่ำไหลออกมาจากช่องคลอด ไม่ว่าจะมีอาการเจ็บท้องหรือไม่ก็ตาม ต้องรีบไปโรงพยาบาล เพราะถุงน้ำคร่ำอาจจะแตกหรือรั่วก็ได้ ถ้าทิ้งไว้นานอาจทำให้ติดเชื้อได้

เตรียมกระเป๋าเข้าห้องคลอด

สำหรับแม่
1. บัตรฝากครรภ์ สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประชาชนเพื่อแจ้งการเกิด
2. ผ้าอนามัย เสื้อชั้นในสำหรับเปิดให้นมลูก
3. ชุดคุณแม่ใส่ตอนออกจากโรงพยาบาล
4. อาหารและเครื่องดื่ม (เพราะหลังคลอดคุณแม่จะหิวมาก)
5. กระเป๋าเครื่องใช้ประจำตัว สำหรับใส่เครื่องสำอาง
6. ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขนหนูเช็ดตัว
7. กล้องถ่ายรูปในกรณีที่ทางโรงพยาบาลอนุญาตให้ถ่ายรูปได้

สำหรับลูก
1. ผ้าอ้อม
2. เสื้อผ้าลูกไซด์แรกเกิด
4. น้ำยาซักล้างต่างๆ
5. หมอนให้นม
6. ผ้าสำหรับห่อตัวลูกกลับบ้าน

ที่มา :http://www.momypedia.com  
       :นิตยสาร  ลูกรัก
รูปภาพ://www.anmum.com